Reflect ประสบการณ์การเป็น No-code Software developer from 0 to 1
ผ่านไปปีกว่าๆ กับเส้นทางการเป็น No-code Software developer สายอาชีพใหม่(?) ที่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก หรือบางคนกำลังสนใจในเส้นทางนี้อยู่แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี ถ้าอยากรู้จักมากขึ้น ลองอ่านบทความนี้ดูฮะ เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เราตกตะกอนได้จากการทำงานในเส้นทางนี้มาปีกว่าๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนที่ผ่านมาอ่านบ้างนะ :)
No-code Software developer คืออะไร?
ก็คือนักพัฒนา Software นั่นแหละ แต่ไม่ต้องเขียนโค้ด หรือใช้ Code น้อยมาก (เช่น part ที่ต้อง custom จริงๆ) ซึ่งช่วงนี้ก็กำลังฮิตในหมู่ผู้ประกอบการแบบ Solopreneur เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการพัฒนา Software ที่ใช้ทรัพยากรคนน้อย และใช้ต้นทุนต่ำในการเริ่มต้น
“คือยังไงนะไม่เขียนโค้ด ?”
ถ้านึกภาพง่ายๆ เหมือนเราเวลาเล่น Lego
Lego จะมี block อยู่ 2 แบบหลักๆ โดยแบบแรกเป็นโครงสร้างพื้นฐานรูปสี่เหลี่ยมบ้าง สามเหลี่ยมบ้าง ถ้าเราอยากได้หลังคาบ้าน ก็อาจจะต้องนำเอารูปร่างพื้นฐานมาต่อให้เป็นหลังคา อยากได้หน้าต่างก็ต้องต่อรูปร่างพื้นฐานให้ออกมาเป็นหน้าต่าง ส่วนแบบที่ 2 พูดง่ายๆ คือของสำเร็จรูป เช่น พวกหน้าต่าง หลังคา หรือ ประตู เราสามารถนำเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามต้องการโดยไม่ต่อมันขึ้นมาเองใหม่ ซึ่ง No-code Tools ก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน มีชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ปุ่ม ฟอร์ม กล่องที่ใช้แสดงข้อมูล ระบบ Database และระบบ Workflow ที่เราสามารถเลือกและนำมาประกอบร้อยเรียงกันตามความต้องการได้ และคนที่สร้างเครื่องมือมาช่วยผ่อนงานเรานี้ เขาก็จะคิดค่าแรงจากเราหน่อย โดย Business กลุ่มนี้เรียกว่า “No-code Tools” นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีเยอะมากๆ และเริ่มจะ Advance ขึ้นไปเรื่อยๆ เลยอยากจะถือโอกาสนี้มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักอาชีพของเรากัน
ยกตัวอย่างของจริงพอให้เห็นภาพ
No-code Tools มีหลากหลายมากๆ บางตัวจะเด่นเรื่อง Design บางตัวจะเน้นการสร้าง Database หรือบางตัวก็เป็น Full Stack ที่รวบตึงแทบจะทุกอย่างไว้ให้เราเลย ทำให้เราสามารถเริ่มต้นจากการ Design ไปถึงการกำหนด Workflow และสร้างระบบฐานข้อมูลได้เอง จนกระทั่ง Deploy ออกมาเป็น Web Application หรือ Native Application ได้เลย ตัวอย่าง Full stack No-code tools ที่โด่งดังมากตัวนึง ที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก ก็คือ Bubble.io (เป็น tools ที่เราใช้เป็นหลักเลย เพราะมันทำได้ครบมากจริงๆ ป้ายยา ฮ่าๆ) ในที่นี้ เราขอยกตัวอย่างขั้นตอนการสร้างเว็บจองที่พักแบบ Airbnb ง่ายๆ ด้วย bubble ละกันนะ (ถ้ามีโอกาสจะมาแนะนำอีกหลายๆ Tools เลยฮะ)
- ขั้นตอนแรก เราจะทำการ Design page ต่างๆ ก่อนโดยที่หลักการจะเหมือนกับการออกแบบ UI ทั่วๆไปเลย
- Design Database Structure ตาม function ของ Application ที่เราได้ Design เอาไว้ว่าจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลอะไรบ้าง เช่น รายการการจอง รายการที่พัก เป็นต้น
- กำหนด Workflow เช่น เมื่อมีคนคลิกปุ่มจอง จะต้องสร้างรายการการจองที่พักขึ้น และเปลี่ยนแปลงสถานะของที่พักนั้นว่ามีคนกำลังจองอยู่ ซึ่งการวาง workflow จะอยู่บนหลักคิดที่ว่า When something happens, then do something.
เพียงเท่านี้ เราก็จะได้เว็บจองที่พักโดยไม่ต้องเขียนโค้ดแล้ว! (แต่ยังไงก็ต้องมีพื้นฐานด้าน design+programing นะ)
อย่างเว็บ JellyCoCo นี้ก็เป็นเว็บที่เราพัฒนาด้วย No-code tools เช่นกัน เข้าไปทดลองเล่นกันได้ฮะ :)
ตะกอนความคิดจากประสบการณ์ 1 ปีกว่าๆ
No-code ทรงพลังกว่าที่คิด ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง
แน่นอนว่า No-code ไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง เราเองตอนเริ่มต้นก็เคยตั้งคำถามว่ามันจะไปไกลขนาดนั้นได้เลยหรอ ไหนจะการ Scaling อีก แต่พอได้ก้าวเท้าเข้ามาอย่างเต็มตัวแล้ว เหลือจะเชื่อ! ถึงแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่อง Custom Function บางอย่าง แต่มันก็ทำให้เราต้องขยับเข้าไปเพื่อที่จะเข้าใจ Code มากขึ้นและสร้างชิ้นส่วนนั้นขึ้นมาเอง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เข้าใจการทำงานของ Code และพื้นฐานด้วย ส่วนตัวมองว่าข้อจำกัดนี่แหล่ะทำให้คนกลุ่มหนึ่งยืดหยุ่นในความคิด จนกระทั่งสามารถต่อยอดไอเดียออกมาขายได้เงินหลักล้าน + + เช่น
- Circlehome.app
- Riku.AI
- Swapstack
- Synthflow
- Supermachine.art
(ยังมีอีกหลายๆ Product ที่อยากแนะนำให้รู้จัก ขอติดเอาไว้ตอนถัดไปนะ)
Programing Skill คือสิ่งสำคัญ
Programing ไม่เท่ากับ Coding
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องนั่งโค้ดเองก็จริง แต่ทักษะพื้นฐานสำคัญที่เราควรมีคือ Programing เพราะเราต้องสั่งงานให้โปรแกรมสร้างในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้น คนที่มาจากสาย dev แต่ไม่อยากเสียเวลาโค้ดแล้วก็อาจจะได้เปรียบ แต่อย่างเราที่มาจากสาย UX/UI designer ก็ต้องฝึกทักษะนี้เพิ่มหน่อย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถ เพราะไอ้คำว่า ‘No-code’ นี้แหละ ที่ทำให้คนอย่างเราที่ไม่ได้เรียนการเขียนโค้ดมาก่อนสามารถสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาได้ เพราะตัวโปรแกรมเองได้มีการเอา visual workflow เข้ามาช่วยให้เรา drag and drop ของต่างๆได้ง่ายขึ้น
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นระหว่างคำว่า ‘Programing’ กับ ‘Coding’ เราขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ เช่น เราต้องการให้เพื่อนทำน้ำน้ำปั่นสตรอว์เบอร์รี่โยเกิร์ตให้กิน แต่เพื่อนเราทำไม่เป็น สิ่งที่เราจะต้องบอกเพื่อนคือ
- เอาสตรอว์เบอร์รี่แช่แข็งออกจากถุงมา 5 ลูก
- เอาโยเกิร์ตออกมาจากตู้เย็นและเปิดฝาโยเกิร์ต
- เอาชุดเครื่องปั่นออกมา
- หยิบโถปั่นออกมาแล้วใส่สตอเบอรี่ 5 ลูก และโยเกิร์ตลงไป 50 กรัม
- ใส่น้ำ 10 ml
- เอาโถปั่นใส่ในเครื่องปั่นและกดปั่น 3 นาที
- กดหยุด
- หมุนโถออกจากเครื่องปั่น
- เตรียมแก้วให้พร้อม
- เทน้ำปั่นลงในแก้ว
อ่ะเหมือนแจกสูตรแฮะ แต่ใช่แล้ว คำว่า Programing Skill คือความสามารถที่เราจะแจกแจงขั้นตอนการทำน้ำปั่นนี้ออกมาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สุดท้ายคือ “สตรอว์เบอร์รี่โยเกิร์ตปั่น” มันต้องละเอียดเบอร์นี้เลยแหล่ะ หรืออาจจะต้องมากกว่านี้ ส่วนคำว่า Coding จะหมายถึงการที่เราสื่อสารกับเพื่อนเพื่อให้เราได้น้ำปั่นมากินนั่นเอง ซึ่งเราอาจจะพูดภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ไทย ในการบอกเพื่อนก็ได้ (ในความจริงอาจจะไม่ได้นะ 55 แค่เปรียบเปรย) แต่ก็เปรียบเสมือน Programing lauguage หรือ แม้แต่ No-code ที่เราอาจจะใช้วิธีการสื่อสารที่ต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ต้องการออกมาเหมือนกัน ดังนั้น Programing Skill จึงเป็นทักษะสำคัญ และ challenge ที่สุดสำหรับเรา ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากมายที่รอให้เราฝึกฝน
เปิดใจที่จะเรียนรู้ และให้อภัยตัวเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาด
เราเป็นคนที่เริ่มต้นจากสาย Design มาก่อนถึงจะยังไม่เก่งมากแต่ก็ยังพอถูไถไปได้ แต่แน่นอนว่าเมื่อเราจะสร้าง Funtional Product เราจะต้องเปิด Domain ใหม่ในการเรียนรู้ ซึ่งการวาง Workflow การคิด Logic และการคิด Database Structure เป็นอะไรที่แรกๆรู้สึกยากมาก ประกอบกับข้อจำกัดทางพื้นฐานของเรา ทำให้มีความอึดอัดคับข้องใจที่จะต้องทำเป็นระยะๆ เรียกได้ว่าเริ่มต้นจาก 0 ทำพลาดบ่อยครั้ง แต่การให้อภัยตัวเอง การฝึกฝนไปเรื่อยๆ และการอยู่ใน Environment ที่ส่งเสริมและไม่กล่าวโทษกัน ทำให้เราก้าวได้ยาวขึ้นมาก
สำหรับเรา No-code คือโอกาส
No-code ในปัจจุบันอาจจะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ถ้า Business define สิ่งที่ต้องการออกมาได้แล้ว การจะใช้ method ไหนนั้นขึ้นกับทรัพยากรและท่วงท่าที่ต่างกัน และทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ไม่มีถูกผิด และยังไงก็ตาม No-code ก็เปิดโอกาสให้คนที่เริ่มจาก 0 แบบเราได้เปิดประตูสู่โลกใหม่ๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ :)
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์บ้างนะฮะ ถ้าใครสนใจงานสายนี้หลังไมค์มาคุยกันได้นะ